วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แฟร์เนา เมนเดซ ปินโต

395 ปี บันทึกของปินโต (หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย)
บันทึก ความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) เรื่อง “Pérégrinação”ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปีค.ศ.1614 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งอัตชีวประวัติของเขาอย่างน่าตื่นเต้นและเหลือเชื่อ จนมีการใช้ชื่อของปินโตเล่นคำเชิงล้อเลียนว่าพูดจริงหรือเท็จอย่างสนุกสนาน โดยชนชาติศัตรูของโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน บันทึกของปินโตถูกอ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรักษา พระองค์ชาวโปรตุเกส และการพระราชทานที่ดินให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนพิธีในสมัยอยุธยา จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบว่าหนังสือฉบับนี้มีสถานะเป็นหลักฐานประวัติ ศาสตร์นิพนธ์หรือเป็นเพียงนิยายผจญภัย

ประวัติของปินโต
ปิน โตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Montemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน
ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ใกล้เมืองอัลมาดา (Almada) ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือชื่อ “Pérégrinação”ขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583
ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531 : 115) ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) นักประวัติศาสตร์บางคนนำหลักฐานของฝ่ายไทยเข้าไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือใน เอกสารของเขาหลายประเด็น และชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อนของศักราชที่เขาอ้างถึง
หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา
งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วน ของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship”

รูปแบบการนำเสนอ
งาน เขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531: 115) เป็นต้น ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพ ภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น มิได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้ามิได้หวังชื่อเสียง สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกผู้ชาย เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้(Henry Cogan, 1653 :1-2) ส่วนเฮนรี โคแกนระบุว่า จุดมุ่งหมายในการแปลหนังสือ“Pérégrinação” จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ คือ ต้องการให้ผู้อ่านทั่วไปเกิดความพึงพอใจและกระตุ้นให้มีการสำรวจและค้นคว้า ทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรืออับปาง เพื่อทัศนศึกษาดินแดนต่างๆในโลกกว้างและเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ“คนป่า เถื่อน”(Henry Cogan, 1653 : A-B)
จุดมุ่งหมายที่จริงจังของทั้งปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากร อารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ “Pérégrinação” อย่างไม่อาจมองข้ามได้ งานของปินโตจึงได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยๆฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสในปีค.ศ.1628 ก็ถูกอ้างอิงโดยซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de Laloubère) ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อกล่าวถึงจำนวนเรือที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้าการเข้ามาของ ตน (จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1,2510 : 502) ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าหากลาลูแบร์เคยได้ยินการเสียดสีงานเขียนของปินโตมา บ้างก่อนที่จะเดินทางเข้ามาสยาม เขาควรจะได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานจากผู้รู้พื้นเมืองชาวสยามอีกครั้ง ก่อนจะตีพิมพ์งานเขียนของตนที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปีค.ศ.1714 เพราะงานเขียนของปินโตเคยถูกล้อเลียนมาแล้วอย่างอื้อฉาว แต่กลับไม่ปรากฏข้อวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของปินโตในงานของลาลูแบร์

คุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม
บัน ทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ ทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และมักจะถูกอ้างอิงเสมอเมื่อกล่าวถึงบทบาททางการทหารของชุมชนโปรตุเกสในรัช สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546) เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า
“ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่น
สัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่น ดินสยามได้....”
การเข้าร่วมรบในกองทัพสยามครั้งนั้นเป็นการถูกเกณฑ์ หากไม่เข้าร่วมรบก็จะถูกขับออกไปภายใน 3 วัน ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวโปรตุเกสถึง 120 คน จากจำนวน 130 คน อาสาเข้าร่วมรบในกองทัพสยาม เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็น ศึกเมืองเชียงกรานซึ่งเกิดขึ้นในค.ศ.1538 (พ.ศ.2081) คลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในหลักฐานของปินโต 10 ปีแม้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงอ้างจากหนังสือของปินโตก็ตาม

ความน่าเชื่อถือ
หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง วิลเลียม คอนเกรฟ (William Congreve, 1670-1729) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษได้แทรกบทกวีในบทละครชื่อ “Love for Love” (ค.ศ.1695) เยาะเย้ยว่า “Mendez Pinto was but a type of thee, thou liar of the first magnitude.” (กรมศิลปากร, 2526 : 42 ) เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ( Sir Richard Burton) ในงานเขียนชื่อ “The Third Voyage of Sinbad, the Sailor” ระบุว่า การผจญภัยของปินโตมีลักษณะคล้ายกับเรื่องราวในนิยายอาหรับและตั้งฉายาเขาว่า “ซินแบดแห่งโปรตุเกส” ดับเบิลยู. เอ.อาร์. วูด (W.A.R. Wood) ชี้ว่าควรจะอ่านงานเขียนของปินโตในฐานะที่เป็นเรื่องราวของชายชราที่ได้เดิน ทางกลับไปสู่มาตุภูมิอีกครั้งหนึ่งเพื่อความบันเทิง มิใช่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นวันต่อวัน และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของปีศักราชในบันทึกชิ้นนี้ด้วย
นักประวัติศาสตร์ไทยหลายคนเลือกใช้ข้อมูลของปินโตมาอ้างอิงโดยตลอด อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มานพ ถาวรวัฒน์สกุลในเรื่องขุนนางอยุธยา(2536) อ้างเรื่องยศขุนนางสมัยอยุธยาตอนกลาง สุเนตร ชุตินทรานนท์ในเรื่องบุเรงนองกะยอดินนรธา(2538) ก็อ้างเอกสารของปินโตซึ่งระบุตรงกับราล์ฟ ฟิตซ์ (Ralph Fitch)ว่า พระเจ้าบุเรงนองนำเอาเรื่องการขอช้างเผือกมาเป็นสาเหตุของสงครามระหว่างสยาม กับพม่าใน ค.ศ.1569 เป็นต้น
งานเขียนปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคล (Campos,1940,P.21) ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามความแม่นยำของเวลา (Timing) ที่ระบุในบันทึกของเขา และปินโตยังยืนยันว่าเขาได้รับจดหมายฝากฝัง (recommended letter) จากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว (Goa) เพื่อให้ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนแห่ง โปรตุเกส (Cogan,1653 : 317) แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขา

หลักฐานของปินโตกับปัญหาในการศึกษาชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา

หากนักเรียนประวัติศาสตร์คนใดจะนำงานเขียนของปินโตมาใช้ในการตรวจสอบเรื่อง ราวเกี่ยวกับตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส ความสัมพันธ์ของคนภายในค่าย ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับราชสำนักอยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับมะละกา กัว มาเก๊า และราชอาณาจักรโปรตุเกส รวมไปถึงอาชีพ จำนวนคนและความเป็นอยู่ในค่ายโปรตุเกสสมัยอยุธยา ก็อาจจะต้องใช้ความพยายามในการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานชิ้นนี้มากพอสมควร ปินโตระบุว่านักสอนศาสนาก็จำเป็นต้องเผยแพร่ศาสนาภายใต้นโยบายของราชสำนัก หรือผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัวเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป เมื่อนักบุญฟรานซิส ซาเวียร์(St. Francis Xavier)จะออกไปเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่น ท่านก็ต้องเดินทางจากมะละกาไปยังกัว เพื่อรับฟังนโยบายของผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดียเสียก่อน (กรมศิลปากร, 2526 : 35) การที่ปินโตเคยเป็นทูตของข้าหลวงโปรตุเกสแห่งมะละกาไปยังรัฐต่างๆในภูมิภาค แถบนี้ อีกทั้งยังเคยเป็นทหารและนักสอนศาสนาของโปรตุเกสด้วย เขาจึงน่าจะเป็นบุคคลที่มีเกียรติพอที่จะได้รับความเชื่อถือจากผู้มีฐานะ เป็นศัตรูชาติโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน แต่เขาก็ไม่เคยถูกนักประวัติศาสตร์โปรตุเกส อาทิ ดูอาร์ตึ บาร์บูซา(Duarte Barbosa) จูอาว ดึ บารอส(João de Baros )และคาสปาร์ คอร์รีอา(Caspar Correa)เสียดสีเลยแม้แต่น้อย

สรุป

ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูก มองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนัก ประวัติศาสตร์ แต่ในสภาวะที่ยุโรปเพิ่งจะพ้นจากยุคแห่งการจุดไฟเผาหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นแม่มดและยังคงเคร่งต่อจริยธรรมทางศาสนา มีใครบ้างที่จะกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเคยรับประทานเนื้อมนุษย์เพื่อ ประทังชีวิตกลางทะเลหลังจากถูกโจรสลัดโจมตี ข้อถกเถียงในงานของปินโตอาจจะมีอยู่ไม่น้อย แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใดบ้างที่ปราศจากคำถามและความเคลือบแคลง งานของปินโตถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของศักราชก็เพราะบันทึกของ เขาเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำเมื่อเขาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ใน โปรตุเกสระยะหนึ่งแล้ว  พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ เคยได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งว่ามีความแม่นยำในเรื่องศักราชและ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ (นิธิ, 2525 : 65) แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์บางท่านก็เคยตั้งข้อสงสัยต่อสถานภาพดังกล่าว (นิธิ, 2525 : 6) ซึ่งถือเป็นความไม่เที่ยงของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันอาจจะมีผู้ใช้บันทึกของปินโตมาตรวจสอบความแม่นยำของเอกสารฉบับ ใดฉบับหนึ่งอย่างจริงจังในอนาคตบ้างก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น